วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

การจัดการพระศพเจ้านาย

เล่าขานงานพระเมรุ : โกศและพระลอง
ห่างหายไปเสียนาน ด้วยว่างานรัดพุงเหลือเกิน พอมีเวลาว่างบ้างก็เลยมีเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังกันพอหอมปากหอมคอขอรับ ห้วงเวลานี่แผ่นดินกำลังโศก ด้วยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์ ในกาลนี้กระผมจึ่งใคร่ขอนำเรื่องราวเกี่ยวกับงานพระศพ ตามราชประเพณีมาเล่าสู่กันฟังตามที่ความรู้อันน้อยนิดที่กระผมมีก็แล้วกันขอรับ ด้วยว่าเรื่องราวมีรายละเอียดมาก จึ่งใคร่ขอแบ่งออกเป็นตอนๆ ตามความเหมาะสมแล้วกันนะขอรับ ก่อนจะเข้าสู่เรื่องเล่า ใคร่ขอประเดิมเริ่มจากการใช้ราชาศัพท์ของคำว่า “ตาย” ที่ใช้ในราชสำนักเสียก่อน ด้วยว่าการใช้คำราชาศัพท์ทุกวันนี้ ดูเหมือนดั่งผิดเพี้ยนไปเพราะความไม่รู้กันเสียมาก
สำหรับคำว่า “ตาย” นี้ หม่อมหลวงปิ่นมาลากุล ท่านได้กรุณาอธิบายเอาไว้ดังนี้ ขอรับ- สวรรคต ใช้กับ พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินี หรือสมเด็จพระบรมวงศ์ที่ทรงดำรงฐานันดรศักดิ์ เทียบเท่า และสมเด็จพระบรมโอสราธิราชสมยามมกุฎราชกุมาร- ทิวงคต ใช้กับ สมเด็จพระอนุชาธิราช หรือสมเด็จพระบรมวงศ์ที่ทรงยกย่องโปรดเกล้าฯ - สิ้นพระชนม์ ใช้กับ พระบรมวงศ์ และพระราชวงศ์ถึงชั้นพระองค์เจ้า- ถึงชีพิตักษัย ใช้กับ หม่อมเจ้า- พิราลัย ใช้กับ เจ้าประเทศราช สมเด็จเจ้าพระยา เจ้าคุณราชินิกุล (ราชสกุลฝ่ายพระราชินี)- ถึงแก่อสัญกรรม ใช้กับ เจ้าพระยา หรือเทียบเท่า ซึ่ง ในปัจจุบัน คือผู้ที่ได้รับเครื่องราชอิสริยภรณ์ปฐม จุลจอมเกล้า- ถึงแก่อนิจกรรม ใช้กับ พระยาหรือเทียบเท่า- ถึงแก่กรรม ใช้กับบุคคลทั่วไป - มรณภาพ ใช้กับ พระภิกษุสามเณร เว้น แต่พระภิกษุสามเณรที่เป็นพระราชวงศ์ใช้ตามฐานันดรศักดิ์ พระราชวงศ์ สำหรับสมเด็จพระสังฆราช ใช้คำว่า สิ้นพระชนม์- อื่นๆ เช่น พระวรราชเทวี ใช้สิ้นพระชนม์ วังหน้า ใช้ สวรรคต ยกเว้นวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 5 คือ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญใช้ ทิวงคต เป็นกรณีพิเศษ วังหลัง ใช้ทิวงคต - ล้ม ใช้กับ สัตว์ใหญ่- ตาย ใช้กับสัตว์เล็ก
เกี่ยวกับคำว่าทิวงคตนี้ กระผมใคร่ขอขยายความสักนิดนึงขอรับ คำทิวงคตนี้ โปรดเกล้า ฯ ให้ใช้สำหรับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอที่ทรงยกย่อง และทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช การสถาปนานี้จะสถาปนาเมื่อสิ้นพระชนม์แล้วทั้งสิ้น ดังตัวอย่างเช่นในสมัยรัชกาลที่ 6 มีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ และ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา เมื่อสิ้นพระชนม์ ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช คำว่า สิ้นพระชนม์จึงเปลี่ยนมาเป็นทิวงคต ส่วนสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธออื่นๆ ใช้ สิ้นพระชนม์ ขอรับ ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 7 นั้น มีสมเด็จพระบรมวงศ์เพียงพระองค์เดียวที่ใช้ทิวงคตตั้ง แต่แรก คือ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภานุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช โดยทรงสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์เทียบเท่าสมเด็จพระบวรราชเจ้า ถือศักดินา
โกศ พระโกศ และพระลองโกศ มาจากภาษาสันสกฤต แปลโดยนิรุกตินัยได้ว่า “เครื่องหุ้มหรือครอบ” คำๆ นี้เขียนได้หลายแบบ เช่น โกษฐ (เขียนตามแบบสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และในหนังสือสมัยก่อน) หรือโกส หรือโกศ ในที่นี้คำว่า โกศ นั้นจะหมายถึงที่บรรจุศพคนสามัญทั่วไป ส่วนพระโกศ หมายถึงที่ใส่ศพนั่งของพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศ์ ราชวงศ์ ซึ่ง ในสารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 3 อธิบายเอาไว้ว่า “โกศ” คือที่ใส่ศพนั่ง มีอยู่ 2 ชั้น คือ ชั้นนอก และชั้นใน - ชั้นนอก เรียกว่า “ลอง” ทำด้วยโครงไม้หุ้มทอง ปิดทองประดับกระจกอัญมณี ใช้สำหรับประกอบปิด “โกศชั้นใน” มีหลายลำดับตามฐานานุศักดิ์ - ชั้นใน เรียกว่า “โกศ” ทำด้วยเหล็กหรือทองแดงหรือเงินปิดทอง การใช้โกศบรรจุพระศพพระราชวงศ์ไทย เป็นธรรมเนียมทำกันมานานแล้ว โกศนั้นมีชั้นเชิงแตกต่างกัน การที่ไทยใช้โกศนี้ไม่มีผู้ใดทราบว่าเริ่ม แต่สมัยใด สมเด็จกรมพระยานริศฯ ตรัสเล่าให้ว่า "น่าจะเป็น แต่สมัยที่ไทยโบราณยังเป็นชนที่ไม่มีถิ่นประจำ และเร่ร่อนอยู่ จึงต้องเอาศพของพ่อเมืองขึ้นเกวียนไปด้วย และตั้งในเกวียนตั้งตามแบบโกศง่ายกว่าหีบยาวๆ " และจากตำนานตามพงศาวดารบ้าง บอกเล่าบ้าง สันนิษฐานเอาบ้างก็ว่ากันไป ในที่นี้กระผมใคร่ขอนำเสนอพระโกศแลโกศ ซึ่ง ใช้เป็นเครื่องประดับเกียรติยศ พร้อมภาพประกอบเท่าที่กระผมจะมีข้อมูลนะขอรับ โดยชื่อแรกจักเป็นชื่อที่เรียกตาม "ตำนานพระโกศ" ส่วนชื่อหลังเป็นชื่อที่ปรากฎในหนังสือสารนุกรมไทย เล่ม 3 ขอรับ ภาพประกอบเป็นภาพพระลองใน ที่ใช้ทรงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7

พระโกศทองใหญ่ หรือ พระลองทองใหญ่ ใช้สำหรับทรงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระอัครมเหสี หรือเจ้าฟ้าชั้นสูงยิ่ง เช่น สมเด็จพระยุพราช สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 (พ.ศ. 2351) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้รื้อทองที่หุ้มกระโกศกุดั่นมาสร้างโกศทองคำอันมีลวดลายเครื่องตก แต่งอย่างงดงามยิ่ง เตรียมไว้สำหรับทรงพระบรมศพของพระองค์ แต่เมื่อ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระอาลัยมาก จึงโปรดฯ ให้เชิญพระโกศทองใหญ่ไปประกอบพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพเป็นครั้งแรก และเป็นประเพณีในรัชกาลต่อมา ที่พระราชทานพระโกศทองใหญ่ให้ทรงพระศพอื่นเป็นพิเศษนอกจากพระบรมศพ เช่นในคราวงานพระบรมศพสมเด็จย่า และงานพพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์


พระโกศทองรองทรง หรือ พระลองทองใหญ่ (รัชกาลที่ 5) พระโกศองค์นี้นับเสมอพระโกศทองใหญ่ พระพุทธเจ้าหลวง โปรดฯ ให้ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ (พลเรือโท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าขจรจรัสวงษ์ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ ทรงเป็นผู้กำกับกรมช่างสิบหมู่) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2443 สำหรับใช้แทนที่พระโกศทองน้อย เวลาที่จะต้องหุ้มทองคำ เพื่อจะไม่ให้ต้องหุ้มเข้า และรื้อออกบ่อยๆ พระโกศองค์นี้ ใช้ทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลา แต่งพระโกศทองใหญ่ และได้ใช้ทรงพระศพเจ้านายอีกหลายพระองค์
พระโกศทองเล็ก หรือพระลองทองเล็ก รัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้กรมหมื่นปราบปรปักษ์สร้างขึ้นเมื่อปีกุน จุลศักราช ๑๒๔๙ (พ.ศ. ๒๔๓๐) สำหรับทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ เป็นทีแรก แล้วได้ใช้ทรงพระศพเจ้านายต่อมา

พระโกศทองน้อยหรือพระลองทองน้อย สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2394) โดยกรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ พระโกศองค์นี้สร้างขึ้นตามอย่างพระโกศทองใหญ่ สำหรับทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อผลัดพระโกศทองใหญ่ไป แต่ก่อนออกงานพระเมรุ เมื่อทรงพระบรมศพ หรือตั้งงานพระศพคู่กับพระโกศทองใหญ่แล้วหุ้มทองคำ ถ้าใช้งานอื่นไม่หุ้มทองพระโกศทองน้อยนี้ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล ณ อยุธยา) สร้างเมื่อในรัชกาลที่ 5 อีกองค์หนึ่ง ปัจจุบันใช้สำหรับทรงพระศพสมเด็จเจ้าฟ้า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ และสมเด็จพระสังฆราชเจ้า

พระโกศกุดั่นใหญ่หรือพระลองกุดั่นใหญ่ และพระโกศกุดั่นน้อยหรือพระลองกุดั่นน้อย พระโกศกุดั่นทั้งสององค์สร้างในรัชกาลที่ 1 เมื่อปีมะแม จุลศักราช 1161 (พ.ศ. 2342) สำหรับทรงพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี และเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ เมื่อทรงพระศพสมเด็จพระพี่นางหุ้มทองคำทั้งสององค์ และมีการเล่าขานกันว่าพระโกศองค์หนึ่งชำรุดไป สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ทรงค้นได้มา แต่ตัวพระโกศ จึงทรงทำฝา และฐานใหม่ประกอบเข้า เรียกพระโกศองค์นี้ว่า "กุดั่นใหญ่" ฝีมือทำซึ่ง ปรากฏอยู่ที่กาบพระโกศนั้นงามอย่างยิ่ง สมกับที่มีตำนานว่าเป็นของทำในรัชกาลที่ 1 อีกองค์หนึ่งเรียกว่า "กุดั่นน้อย" องค์นี้ที่ว่าไม่ชำรุดสูญหาย แต่ดูทำนองลายในกาบ ไม่ค่อยเทียมทันเสมอกันกับพระโกศกุดั่นใหญ่ อันมีตำนานว่าทำพร้อมกัน พระโกศทั้งสององค์นี้เกียรติยศใช้ต่างกัน ทุกวันนี้ถือว่าพระโกศกุดั่นใหญ่เกียรติยศสูงกว่าพระโกศกุดั่นน้อย และพระโกศกุดั่นน้อยนี้ กรมหมื่นบำราบปรปักษ์ได้ทรงสร้างเติมขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๕ อีกองค์หนึ่ง
สำหรับพระโกศกุดั่นใหญ่ในปัจจุบันไม่ปรากฏอยู่ในหลักเกณฑ์การพระราชทานพระโกศเกียรติยศว่าพระราชทานแก่ผู้ใด คงมี แต่พระโกศกุดั่นน้อย ที่พระราชทานสำหรับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ และสมเด็จพระสังฆราช

พระโกศมณฑปน้อย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติสร้างขึ้นทรงพระศพพระเจ้าลูกเธอที่ยังทรงพระเยาว์ ถ้าทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระโกศนี้หุ้มทองคำเฉพาะงาน พระโกศมณฑปใหญ่ สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ ปีจุลศักราช 1225 (พ.ศ. 2406) ทรงโปรดฯ ให้กรมขุนราชสีหวิกรม เอาแบบมา แต่พระโกศมณฑปน้อย สำหรับทรงพระศพ กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ ด้วยเหตุที่กรมพระพิทักษ์เทเวศร์พระรูปใหญ่โต พระศพลงลองพระโกศสามัญไม่ได้ ต้องทำลองสี่เหลี่ยมขึ้นโดยเฉพาะ พระโกศมณฑปใหญ่นี้ต่อมาสร้างขึ้นอีกองค์หนึ่ง แต่จะสร้างขึ้นเมื่อใดไม่ทราบแน่ชัด ปัจจุบันพระโกศมณฑป จะพระราชทานประกอบพระเกียรติยศให้กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระราชวงศ์ ที่เป็นสะใภ้หลวง และได้รับพระราชทานตราทุติยจุลจอมเกล้า และโกศมณฑป สำหรับประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานศาลฎีกาที่ถึงแก่อสัญกรรมขณะดำรงตำแหน่ง

พระโกศพระองค์เจ้า เดิมเรียกว่า โกศลังกา สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำริให้สร้าง แต่ครั้งยังทรงผนวช ลักษณะเป็นลองสี่เหลี่ยมหุ้มผ้าขาว ยอดเป็นฉัตรระบายผ้าขวา มูลเหตุมาจากที่ เจ้าฟ้าอาภรณ์ประชวร สิ้นพระชนม์ในระหว่างเป็นโทษเนื่องกับคดีหม่อมเจ้าไกรสรเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๓ พระศพต้องฝัง และสันนิษฐานว่า ต้องใส่หีบศพเมื่อจะเผาตามประเพณี ซึ่ง เจ้าฟ้ามงกุฎ เมื่อครั้งที่ยังครองสมณะเพศอยู่ ได้ทูลขอ และได้พระราชทานอนุญาตให้เป็นเจ้าภาพจัดการปลงพระศพเจ้าฟ้าอาภรณ์ ทรงตรัสว่าศพเจ้าฟ้าไม่เคยใส่หีบ แต่จะเรียกโกศหลวงก็ไม่ได้ จึงทรงพระราชดำริให้ทำโกศขึ้นอย่างใหม่ ตัวโกศทำเป็นเหลี่ยมหุ้มผ้าขาว ตอนฐานรองโกศจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ แต่ฝาโกศนั้นใช้แผ่นกระดานปิดปากโกศ แล้วมีฉัตรผ้าขาวซ้อนกัน ๓ ชั้นรูปเป็นสี่เหลี่ยมเหมือนกับโกศตั้งต่อขึ้นไป ระบายฉัตรชั้นล่างปรกปากโกศจึงดูเหมือนฉัตร ๓ ชั้นนั้นเป็นฝาโกศ เรียกกันว่า "โกศลังกา"เพราะเหตุใดไม่ทราบ ต่อมารัชกาลที่ ๔ ทรงเอาแบบมาใช้เป็นโกศหลวงอีกอย่างหนึ่ง สำหรับทรงพระศพพระเจ้าลูกเธอที่ยังทรงพระเยาว์อยู่ ต่อมาโกศนี้ใช้สำหรับทรงพระศพพระองค์เจ้าวังหน้า และพระองค์เจ้าตั้ง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 สมเด็จกรมพระยาบำราบปรปักษ์ จึงทรงคิดทำลองประกอบนอกขึ้น และกรมหมื่นปราบปรปักษ์ทำเติมขึ้นใหม่อีกพระโกศหนึ่ง จะเห็นได้ว่า โกศลังกา แต่เดิมไม่มีพระลองนอกประกอบ เพิ่งมามีในตอนหลัง
พระลองราชวงศ์ ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรง 4 เหลี่ยม ฝายอดทรงชฎาพอกปิดทองล่องชาดประดับ กระจกสี สร้างในสมัย ร.4 สำหรับพระราชทาน ทรงพระศพ พระองค์เจ้า และหม่อมเจ้า ในปัจจุบันพระราชทานเพื่อประกอบพระเกียรติยศ สำหรับพระวงวงศ์เธอ และหม่อมเจ้า ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.) หรือตราทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ


พระโกศไม้สิบสองหรือลองไม้สิบสอง มีตำนานว่าสร้างในรัชกาลที่ 1 เมื่อปีกุน จุลศักราช 1165 (พ.ศ. 2346) สำหรับทรงพระศพ พระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท ซึ่ง ในครั้งนั้นหุ้มทองคำ ในปัจจุบันมีพระโกศไม้สิบสอง 2 องค์ ว่ากันว่าเป็นของเก่าองค์หนึ่ง และเป็นของที่สร้างเติมขึ้นใหม่อีกองค์หนึ่ง แต่สืบความไม่ได้ว่าสร้างเติมตั้ง แต่เมื่อใด ปัจจุบันพระราชทานประกอบเกียรติยศ สมเด็จพระราชาคณะ และองคมนตรีที่ถึงแก่อสัญกรรมขณะดำรงตำแหน่ง ฯ ลฯ

ไม่มีความคิดเห็น: